คดีลักทรัพย์

การลักทรัพย์

การลักทรัพย์ คือ การเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไป โดยต้องการจะครอบครองทรัพย์นั้นไว้ เพื่อตนเองเอาไปขายหรือให้กับบุคคลอื่นก็ตามแต่ ผู้ที่กระทำความผิดฐานลักทรัพย์จะต้องถูกระวางโทษไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 6 พันบาท

การลักทรัพย์นั้นถ้าผู้กระทำได้กระทำในเวลากลางคืนหรือในบริเวณที่มีเหตุเพลิงไหม้ การระเบิด หรือในบริเวณที่มีอุบัติเหตุผู้ที่เข้าไปลักทรัพย์ในบริเวณดังกล่าวจะต้องถูกระวางโทษหนักขึ้นกว่าการลักทรัพย์ในเวลา สถานที่หรือเหตุการณ์ปกติ เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะเหตุการณ์ หรือช่วงเวลาดังกล่าวเจ้าของทรัพย์กำลังได้รับความเดือดร้อนไม่สามารถที่จะดูแลทรัพย์ของตนเองได้และการกระทำในเหตุการณ์หรือช่วงเวลาดังกล่าวเป็นการกระทำที่ซ้ำเติมเจ้าของทรัพย์ที่กำลังได้รับความเดือดร้อน

ยักยอกทรัพย์

การยักยอกทรัพย์ เป็นกรณีที่ทรัพย์นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของบุคคลหนึ่ง แล้วบุคคลนั้นได้ยึดเพื่อไว้เป็นประโยชน์กับตนเอง ซึ่งทำให้เจ้าของทรัพย์ได้รับความเสียหาย เช่น นาย ก ยืมยางลบ นาย ข ไว้ใช้ แต่เห็นว่าสวยดีจึงไม่คืน ในกรณีเช่นนี้ นาย ก มีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ซึ่งจะต้องถูกระวางโทษไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับข้อควรระวังสำหรับผู้ที่เก็บกระเป๋าตังค์ตกได้หรือของที่มีคนมาลืมไว้ (โดยที่เจ้าของยังติดตามทรัพย์นั้นอยู่) หากนำกลับไปเพราะต้องการยึดถือไว้เองแล้วก็มีความผิดฐานลักทรัพย์ได้

การวิ่งราวทรัพย์

เป็นการลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า หมายถึง เป็นการขโมยเจ้าของรู้ตัวและทรัพย์จะต้องอยู่ใกล้ชิดตัวเจ้าทรัพย์ ผู้กระทำการวิ่งราวทรัพย์จะต้องถูกระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท อย่างไรก็ตามถ้าการวิ่งราวทรัพย์ทำให้ผู้อื่นได้รับอันตรายหรือเสียชีวิต เช่น กระชากสร้อยจากเจ้าของแล้วสร้อยบาดคอเจ้าของสร้อย ผู้ที่กระทำจะต้องถูกระวางโทษหนักขึ้นด้วย

การกรรโชกทรัพย์

การกรรโชกทรัพย์ หากจะยกตัวอย่างให้เห็นได้อย่างชัดเจนคงต้องยกตัวอย่าง

กรณีที่พบเห็นได้บ่อย คือ การที่รุ่นที่บังคับเอาเงินจากรุ่นน้องหรือที่เรียกกันว่า “แก็งค์ดาวไถ่”

พวกแก็งดาวไถ่มักจะบังคับขู่เข็ญให้รุ่นน้องเอาเงินหรือสิ่งของที่มีค่ามาให้ ถ้าไม่เอามาให้ก็มักจะถูกขู่หรือถูกทำร้าย ทำให้ต้องยอมตามที่แก็งค์ดาวไถ่บังคับ ผู้ที่กระทำความผิดในเรื่องนี้นั้นกฎหมายได้กำหนดโทษให้ต้องจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท แต่ถ้าผู้ที่กระทำการกรรโชกขู่ว่าจะฆ่า ทำให้ได้รับอันตรายอย่างสาหัสหรือมีอาวุธมาขู่ด้วยก็จะได้รับโทษหนักขึ้น


รีดเอาทรัพย์

การรีดเอาทรัพย์มีลักษณะการกระทำความผิดเหมือนการกรรโชกทรัพย์แต่ต่างกันเฉพาะวิธีการบังคับ กล่าวคือ การกรรโชกทรัพย์จะเป็นการขู่ว่าจะทำร้ายทำอันตราย แต่การรีดเอาทรัพย์จะเป็นกรณีที่ผู้กระทำขู่ว่าจะเปิดเผยความลับซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้ที่ถูกขู่หรือบุคคลอื่น จนผู้ที่ถูกขู่ยินยอมมอบเงินหรือทรัพย์สินให้ ผู้ที่กระทำความผิดฐานนี้จะต้องถูกลงโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 2 พันบาท ถึง 2 หมื่นบาท

ชิงทรัพย์

ชิงทรัพย์ คือ การลักทรัพย์ที่ประกอบด้วยการใช้กำลังเข้าทำร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังเข้าทำร้ายในทันที ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ที่ครอบครองทรัพย์นั้นอยู่ยินยอมให้ทรัพย์ไป หรือกระทำไปเพื่อให้เกิดความสะดวกในการนำทรัพย์นั้นไป เช่น ขณะที่นายเอกกำลังเดินเล่นอยู่ นาย โท ก็เข้ามาบอกให้สร้อยทองให้ถ้าไม่ให้จะทำร้ายหรือจะเอาปืนยิงให้ตายจนนายเอกต้องยอมถอดสร้อยของตนให้ เป็นต้น

ปล้นทรัพย์

การปล้นทรัพย์ มีลักษณะเช่นเดียวกับการชิงทรัพย์ต่างกันเพียงว่ามีผู้ร่วมชิงทรัพย์ตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ผู้ที่กระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์จะต้องถูกระวางโทษตั้งแต่ 10 ปี ถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาท ถึง 3 หมื่นบาท หากการปล้นทรัพย์ผู้ปล้นคนใดคนหนึ่งมีอาวุธติดตัวไปด้วย หรือในการปล้นเป็นเหตุให้เจ้าทรัพย์หรือบุคคลอื่นได้รับถูกทำร้ายหรือเสียชีวิต ผู้กระทำความผิดทุกคนแม้จะไม่ได้พกอาวุธหรือร่วมทำร้ายเจ้าทรัพย์หรือบุคคลอื่น กฎหมายก็ถือว่าทุกคนมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วย ซึ่งมีผลให้จะต้องรับโทษหนักขึ้นกว่าการปล้นทรัพย์โดยไม่มีอาวุธหรือไม่ได้มีการทำร้ายผู้ใด

ทำให้เสียทรัพย์

การทำให้เสียทรัพย์ เป็นกรณีที่ผู้กระทำตั้งใจที่จะทำร้ายหรือทำให้ทรัพย์สินของผู้อื่นได้รับความเสียหาย เช่น ไม่พอใจอาจารย์ฝ่ายปกครองจึงเอาเหรียญไปขูดรถของอาจารย์ หรืออิจฉาเพื่อนที่มีโทรศัพท์จึงเอาโทรศัพท์เพื่อนไปทิ้ง เป็นต้น ผู้กระทำความผิดฐานนี้จะต้องถูกระวางโทษไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากการที่ผู้กระทำจะต้องรับในทางกฎหมายอาญาแล้ว ก็มีความผิดทางกฎหมายแพ่งด้วยกล่าวคือผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้นอาจใช้สิทธิฟ้องให้ผู้กระทำผิดให้ชดใช้ค่าเสียหายได้อีกด้วย

Visitors: 73,539