ลักทรัพย์ (ต่อ)

 จากที่ทางบริษัท SLS2517 ได้นำเสนอเรื่องความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ฐานลักทรัพย์ไปในบทความที่แล้ว บทความนี้จะอธิบายถึงเหตุที่จะทำให้ผู้ที่ทำความผิดฐานลักทรัพย์นั้นต้องได้รับโทษที่มากกว่าโทษที่ระบุไว้ในมาตรา 334 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

         ตามหลักในการวินิจฉัยความผิดในทางกฎหมายอาญานั้นเมื่อพิจารณาจนสำเร็จแล้วว่าผู้ถูกกล่าวหานั้นเป็นผู้กระทำความผิดสิ่งที่จะต้องพิจารณาต่อมาก็คือ โทษที่ผู้กระทำความผิดจะได้รับหรือก็คือเหตุเพิ่มโทษ โดยเหตุเพิ่มโทษของความผิดฐานลักทรัพย์นั้นได้มีการบัญญัติเอาไว้ในมาตรา 335 และ 335 ทวิ ซึ่งทางบริษัท SLS2517 จะขออธิบายแยกเป็นรายมาตราดั่งต่อไปนี้

มาตรา 335 แห่งประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติไว้ว่า ผู้ใดลักทรัพย์ (1) ในเวลากลางคืน (2) ในที่หรือบริเวณที่มีเหตุเพลิงไหม้ การระเบิด อุทกภัย หรือในที่หรือบริเวณที่มีอุบัติเหตุ เหตุทุกขภัยแก่รถไฟ หรือยานพาหนะอื่นที่ประชาชนโดยสาร หรือภัยพิบัติอื่นทำนองเดียวกันหรืออาศัยโอกาสที่มีเหตุเช่นว่านั้น หรืออาศัยโอกาสที่ประชาชนกำลังตื่นกลัวภยันตรายใด ๆ (3) โดยทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์ หรือโดยผ่านสิ่งเช่นว่านั้นเข้าไปด้วยประการใด ๆ (4) โดยเข้าทางช่องทางซึ่งได้ทำขึ้นโดยไม่ได้จำนงให้เป็นทางคนเข้า หรือเข้าทางช่องทางซึ่งผู้เป็นใจเปิดไว้ให้ (5) โดยแปลงตัวหรือปลอมตัวเป็นผู้อื่น มอมหน้าหรือทำด้วยประการอื่นเพื่อไม่ให้เห็นหรือจำหน้าได้ (6) โดยลวงว่าเป็นเจ้าพนักงาน (7) โดยมีอาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป (8) ในเคหสถาน สถานที่ราชการหรือสถานที่ที่จัดไว้เพื่อให้บริการสาธารณะที่ตนได้เข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือซ่อนตัวอยู่ในสถานที่นั้น ๆ (9) ในสถานที่บูชาสาธารณะ สถานีรถไฟ ท่าอากาศยาน ที่จอดรถหรือเรือสาธารณะ สาธารณสถานสำหรับขนถ่ายสินค้า หรือในยวดยานสาธารณะ (10) ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ (11) ที่เป็นของนายจ้างหรือที่อยู่ในความครอบครองของนายจ้าง (12) ที่เป็นของผู้มีอาชีพกสิกรรม บรรดาที่เป็นผลิตภัณฑ์ พืชพันธุ์ สัตว์หรือเครื่องมืออันมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรมหรือได้มาจากการกสิกรรมนั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท ถ้าความผิดตามวรรคแรกเป็นการกระทำที่ประกอบด้วยลักษณะดังที่บัญญัติไว้ในอนุมาตราดังกล่าวแล้วตั้งแต่สองอนุมาตราขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท ถ้าความผิดตามวรรคแรกเป็นการกระทำต่อทรัพย์ที่เป็นโค กระบือ เครื่องกลหรือเครื่องจักรที่ผู้มีอาชีพกสิกรรมมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรม ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หกพันบาทถึงสองหมื่นบาท ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในมาตรานี้ เป็นการกระทำโดยความจำใจหรือความยากจนเหลือทนทาน และทรัพย์นั้นมีราคาเล็กน้อย ศาลจะลงโทษผู้กระทำความผิดดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 334 ก็ได้

   แม้ภายในตัวบทจะดูค่อนข้างยาวแต่ตัวบทก็ได้เขียนอธิบายทุกอย่างไว้อย่างชัดเจนตรงตัวบทโดยสามารถอธิบายเพิ่มเติมได้ดั่งนี้

                   1)การลักทรัพย์ในเวลากลางคืนนั้นพิจารณาจากข้อเท็จจริงว่าดวงอาทิตย์ตกเมื่อใด มิใช่เวลา 18.00 ดั่งที่หลายคนเข้าใจผิดกัน(ฎีกา512/2516) อีกทั้งการกระทำความผิดไม่ว่าจะเริ่มต้นกระทำหรือกระทำความผิดสำเร็จแล้วหากมีช่วงใดเป็นช่วงเวลากลางคืนก็ถือว่าความผิดนั้นสำเร็จตามมาตรา 335 (1) แล้ว

                   2) การนำอาวุธไปด้วยในการก่อเหตุแม้จะเป็นของปลอมคือไม่สามารถใช้เพื่อทำอันตรายแก่บุคคลอื่นได้ก็ยังคงถือว่าเป็นอาวุธโดยสภาพ (ฎีกา1903/2520) หรือแม้แต่การพกอาวุธติดตัวไปแม้จะไม่นำออกมาใช้ในการลักทรัพย์ก็ยังถือว่าความผิดสำเร็จตามมาตรา 335(7) (ฎีกา730/2509)

                   3)บางคนอาจเข้าใจผิดว่าบูชาสาธารณตาม (9) นั้นหมายรวมถึงกุฏิพระด้วย นั่นเป็นความเข้าใจที่ผิดเพราะกุฏิพระนั้นถือเป็นเคหสถานตาม(8)มิใช่(9) (ฎีกา 2014/2536)

                   4)การลักทรัพย์บนรถโดยสารสาธารณะนั้นก็ถือว่ามีความผิดตาม (9) แม้จะดึงตัวลงมาจากรถแล้วเอาทรัพย์ไปก็ตามความผิดเริ่มต้นแล้วนับแต่เอาทรัพย์มา(ฎีกา1084/2530)

                   5)การลักทรัพย์ในบ้านที่เจ้าของอนุญาตให้เข้าไปเป็นเพียงลักทรัพย์ธรรมดาไม่เข้า(8)(ฎีกา1076/2526)

                   6)หากสามารถพิสูจน์ได้ว่าการที่ลักทรัพย์ดั่งกล่าวนั้นเป็นไปด้วยความยากจนเหลือทนทานและทรัพย์นั้นมีราคาเพียงเล็กน้อยศาลจะไม่เพิ่มโทษให้แก่ผู้กระทำความผิดก็ได้ คือให้รับโทษแต่เพียงในมาตรา 334 เท่านั้น

                มาตรา 335 ทวินั้นได้บัญญัติไว้ดั่งนี้ ผู้ใดลักทรัพย์ที่เป็นพระพุทธรูปหรือวัตถุในทางศาสนา ถ้าทรัพย์นั้นเป็นที่สักการะบูชาของประชาชน หรือเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติ หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของพระพุทธรูป หรือวัตถุดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หกพันบาทถึงสองหมื่นบาทถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรก ได้กระทำในวัด สำนักสงฆ์ สถานอันเป็นที่เคารพในทางศาสนา โบราณสถานอันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน สถานที่ราชการหรือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสามหมื่นบาท

เช่นเดียวกันกับมาตรา 335 มาตรา 335 ทวินั้นมีไว้เพื่อเพิ่มโทษให้แก่ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 334 โดยมาตรา 335 ทวินั้นจะเน้นไปที่ตัวทรัพย์ของที่ผู้กระทำความผิดได้ทำการลักทรัพย์มามิใช่สถานที่ที่ตัวผู้กระทำความผิดลงมือเหมือนในมาตรา 335 โดยสามารถอธิบายเพิ่มเติมได้ดั่งนี้

1) รูปพระอาจารย์ ก้อนหิน ท่อนไม้ ศพ ที่ผู้มีคนนับถือหรือรูปพระฤาษีที่เก็บบนกุฏิพระไม่ถือเป็นที่บูชาของประชาชนหรือสมบัติของศาสนา (ฎีกา2382/2519)

2)หากเป็นการลักพระพุทธรูปที่ใช้บูชาทั่วไปตามบ้านเรือนไม่มีความผิดตามมาตรานี้ (ฎีกา1812/2527)

3)หากเป็นพระพุทธรูปที่ขุดพบแต่นำไปเก็บไว้เองที่บ้านแม้จะมีคนมากราบไหว้บูชาก็ยังไม่เข้ามาตรา 335ทวิ เพราะยังไม่ได้มอบไว้ให้เป็นสมบัติของชาติ (ฎีกา1024/2518)

                ดังนั้นหากมีผู้ใดมาทำการลักทรัพย์ของท่านหรือท่านถูกผู้ใดกล่าวหาว่าท่านได้ทำการลักทรัพย์ ท่านต้องไม่ลืมที่จะบรรยายถึงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับความผิดลักทรัพย์นั้นโดยละเอียดไม่ว่าจะเป็น เวลา สถานที่ หรือตัวทรัพย์ที่ถูกกล่าวอ้างว่าถูกลักไปเพราะมันจะมีผลทั้งในเรื่องโทษที่จะได้รับอาจจะส่งผลให้มากขึ้นหรือเท่าเดิมก็ได้ทั้งนั้น

                ความผิดเกี่ยวกับการลักทรัพย์คงจะจบแต่เพียงเท่านี้แต่ความผิดที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์นั้นยังมีอีกมากทางบริษัท SLS2517 จะขอนำมาเสนอในบทความต่อไปทั้งนี้หากท่านถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิดทั้งในทางคดีอาญาและทางแพ่งท่านสามารถติดต่อบริษัท SLS2517 เพื่อขอรับคำปรึกษาหรือดำเนินการต่อสู้คดีได้ที่เบอร์ 063-995-3361

Visitors: 58,022