ฎีกา คดีชิงทรัพย์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 602/2543
การที่จำเลยที่ 1 ยื้อแย่งไม้กวาดจากผู้เสียหายที่ 2 และเหวี่ยงกันไปมาโดยจำเลยที่ 1 ทำหน้าตาและส่งเสียงข่มขู่จะทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 และการเหวี่ยงไปมาขณะแย่งไม้กวาด เป็นเหตุให้ข้อมือของผู้เสียหายที่ 2 ได้รับบาดเจ็บถือได้ว่าเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายอันเป็นกรณีที่ต่อเนื่องกับการที่จำเลยทั้งสองเข้าไปลักทรัพย์ในบ้านของผู้เสียหาย ทั้งนี้ เพื่อสะดวกแก่การพาทรัพย์นั้นไปและเพื่อให้พ้นจากการจับกุม จึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2399/2518
จำเลยลักไก่ไปจากผู้เสียหาย ต่อมา 1 ชั่วโมง ผู้เสียหายตามไปพบจำเลยกับไก่ที่กระท่อมของ จ. ห่างจากที่เกิดเหตุ 100 เส้น จำเลยถือเหล็กแหลมจ้องมาทางผู้เสียหาย การลักทรัพย์ขาดตอนแล้ว ไม่เป็นชิงทรัพย์
คำพิพากษาศาลฎีกา1867/2553
จำเลยใช้อาวุธมีดปลายแหลมจี้ขู่ผู้เสียหายและเอาโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายและรถยนต์ของบิดาของผู้เสียหายไป เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายจำเลยก็ต้องรับโทษหนักขึ้น แม้ผู้เสียหายได้รับบาดแผลที่ต้นแขนซ้ายจากมีดของจำเลยเนื่องจากอุบัติเหตุ จำเลยไม่มีเจตนาทำร้ายผู้เสียหาย ก็ไม่ใช่ข้อสำคัญ เพราะการที่จำเลยจะรับโทษหนักขึ้นด้วยเหตุที่ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายนั้น จำเลยไม่จำต้องกระทำโดยมีเจตนา เพียงแต่พิจารณาว่าผลที่ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายนั้น เป็นผลที่ตามธรรมดาย่อมเกิดขึ้นได้ตาม ป.อ. มาตรา 63 หรือไม่ เมื่อจำเลยใช้มีดปลายแหลมจี้ผู้เสียหายการที่ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายจากมีดนั้นจึงย่อมเป็นผลธรรมดาที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำของจำเลยแล้ว จำเลยจึงมีความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายตามมาตรา 339 วรรคสาม
คำพิพากษาศาลฎีกา10015/2553
การที่จำเลยที่ 1 กับพวกและผู้เสียหายนั่งดื่มเบียร์อยู่ด้วยกัน แล้วจำเลยที่ 1 ล้วงกระเป๋ากางเกงของผู้เสียหายหยิบกระเป๋าเงินออกมา เมื่อเห็นว่าไม่มีเงินในกระเป๋าจึงล้วงหยิบเอาโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายออกมาโดยจำเลยที่ 1 บอกว่าถ้าไม่ให้โทรศัพท์จะทำร้าย หลังเกิดเหตุผู้เสียหายกลับไปบ้านพัก สักครู่หนึ่งจำเลยที่ 1 ก็นำโทรศัพท์เคลื่อนที่มาคืนให้ผู้เสียหายแม้จะคืนโดยโยนลงพื้นเอาเท้าเหยียบแล้วบอกให้ผู้เสียหายคลานมาเอา จากพฤติการณ์ดังกล่าวเห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการทำไปด้วยความคึกคะนองมิได้ประสงค์ต่อทรัพย์โดยมีเจตนาทุจริตเพื่อเอาทรัพย์ไปเป็นของตนเอง อันเป็นการขาดองค์ประกอบของความผิดฐานลักทรัพย์ จึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตามฟ้อง การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นเพียงความผิดต่อเสรีภาพตาม ป.อ. มาตรา 309 วรรคสอง