คดีฉ้อโกง

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

การหลอกลวง ฉ้อโกงคนอื่นมีตั้งแต่หลอกลวงคนคนเดียวไปจนถึงหลอกลวงคนเป็นจำนวนมาก และมีหลากหลายรูปแบบ สิ่งที่ต้องการจากการหลอกลวงก็แตกต่างกันไป และความผิดฐานฉ้อโกงคนอื่นจะมีโทษที่หนักเบาแตกต่างกันไปตามความรุนแรงของความผิดที่ทำ ซึ่งมีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา หมวด 3 

1.หลอกลวงธรรมดาทั่วไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 

ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2.ฉ้อโกงโดยแสดงตัวเป็นคนอื่น หรืออาศัยความเบาปัญญาของเด็ก หรือความอ่อนแอทางจิต มาตรา 342

คนทำผิดตามมาตรานี้จะได้รับโทษหนักขึ้นอีก เพราะทำความผิดกับคนที่อ่อนแอกว่า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

3. ฉ้อโกงประชาชน มาตรา 343

การฉ้อโกงประชาชนไม่ได้ดูที่จำนวนคนที่ถูกโกงแต่ดูที่เจตนา ถ้าการหลอกลวงทำไปด้วยการแสดงข้อความเท็จ หรือปิดบังความจริงที่ควรบอกให้รู้ และต้องการให้คนทั่วไปทุกคนเชื่อแบบไม่เฉพาะเจาะจงคน จะเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แต่จะมีโทษเพิ่มขึ้นอีก ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน – 7 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 – 140,000 บาท ถ้า…

  • หลอกลวงด้วยการแสดงตัวเป็นคนอื่น
  • หลอกลวงเด็ก หรือคนที่มีความอ่อนแอทางจิต

4. ฉ้อโกงแรงงาน มาตรา 344

ความผิดฐานฉ้อแรงงาน มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยต้อง

  • หลอกลวงคนตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป
  • ให้ทำงานให้ตัวเองหรือบุคคลที่ 3 ก็ได้
  • โดยมีเจตนาที่จะไม่จ่ายค่าแรงให้
  • หรือมีเจตนาที่จะจ่ายค่าแรงให้น้อยกว่าที่ตกลงกันไว้

5. ฉ้อโกงค่าอาหารเครื่องดื่ม เข้าพักโรงแรมฟรี มาตรา 345

ไปหลอกเพื่อให้ได้กิน ดื่ม หรือเข้าพัก ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าตัวเองจ่ายไม่ได้แน่ ๆ โดยตั้งใจจะไม่จ่ายตั้งแต่แรก ความผิดนี้มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

6. ชักจูงเพื่อเอาเปรียบผู้อื่น มาตรา 346

ความผิดในข้อนี้ไม่จำเป็นต้องหลอกลวงแค่ชักจูงให้ทำก็มีความผิดแล้ว

ผู้ใดเพื่อเอาทรัพย์สินของผู้อื่นเป็นของตนหรือของบุคคลที่สาม ชักจูงผู้หนึ่งผู้ใดให้จำหน่ายโดยเสียเปรียบซึ่งทรัพย์สิน โดยอาศัยเหตุที่ผู้ถูกชักจูงมีจิตอ่อนแอ หรือเป็นเด็กเบาปัญญา และไม่สามารถเข้าใจตามควรซึ่งสาระสำคัญแห่งการกระทำของตน จนผู้ถูกชักจูงจำหน่ายซึ่งทรัพย์สินนั้น มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

7. ฉ้อโกงประกันภัย มาตรา 347

ความผิดในข้อนี้ต้องมีการแกล้งทำให้เกิดความเสียหายกับวัตถุที่เอาประกันภัยไว้ เพื่อให้ตัวเองหรือคนอื่นได้รับประโยชน์จากการประกันวินาศภัย มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  

จะเห็นว่าความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกง ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การหลอกลวงคนคนเดียว แต่ยังมีความผิดเกี่ยวกับการหลอกคนส่วนมากในสังคมอีกด้วย และในมาตรา 348 ระบุไว้ว่าความผิดฐานฉ้อโกงเป็นความผิดที่ยอมความได้ทั้งหมด ยกเว้นการฉ้อโกงประชาชน มาตรา 343 เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ยอมความไม่ได้

Visitors: 58,148