ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์

ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์

ทางเราได้วางองค์ประกอบทั้งภายในและภายนอกไว้ เพื่อให้ท่านเข้าใจฐานความผิดแต่ละฐานโดยง่ายว่าแต่ละฐานความผิดนั้นแตกต่างกันอย่างไร   

  •  ลักทรัพย์ มาตรา 334 
  •  ยักยอกทรัพย์ มาตรา 352
  •  วิ่งราวทรัพย์ มาตรา 336 

ทางบริษัทฯเรามีทนายความมืออาชีพมากมาย หากท่านสนใจต้องการติดต่อได้ที่เบอร์ 063-995-3361 หรือ E-mail : sls2017law@hotmail.com, sls2017law@gmail.com

มาตรา 334 ความผิดฐานลักทรัพย์

         วางหลักไว้ว่า ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษ...

 องค์ประกอบความผิด

         องค์ประกอบภายนอก 

                   1.ผู้ใด  คือ ผู้กระทำความผิด

                   2.เอาไป คือ การแย่งการครอบครองในลักษณะตัดรอนกรรมสิทธิ์ออกจากเจ้าของทรัพย์เดิม โดยการเข้าครอบครองพาทรัพย์นั้นเคลื่อนที่ออกไปจากที่ที่ทรัพย์เดิมเคยอยู่ แม้เพียงเคลื่อนที่เล็กน้อยก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว 

                   คำพิพากษาฎีกาที่ 3011/2551 จำเลยขึ้นนั่งคร่อมจักรยานยนต์ และเข็นรถของผู้เสียหายมาจากจุดที่จอดเดิมประมาณ 1 เมตร แต่จำเลยยังไม่ทันติดเครื่องรถขับเอาไปเพราะผู้เสียหายมาพบเห็นเสียก่อน จำเลยจึงทิ้งรถวิ่งหนีไป ถือได้ว่าจาเลยเข้ายึดถือครอบครอง และเอาทรัพย์เคลื่อนไปในลักษณะที่พาเอาไปได้เป็นการลักทรัพย์สำเร็จแล้ว   

                    3.ทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย กล่าวคือ ทรัพย์ของใครก็ได้ที่มิใช่ของผู้กระทำความผิดเอง มิฉะนั้นแม้เข้าใจว่าเป็นทรัพย์ของบุคคลอื่น แต่ความจริงเป็นทรัพย์ของผู้กระทำความผิดนั้นเองก็ไม่มีความผิดเกิด เพราะขาดองค์ประกอบภายนอกนี้ 

           

          องค์ประกอบภายใน

                   1. เจตนาธรรมดา คือ ผู้กระทำต้องรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอกของความผิด และผู้กระทำย่อมเล็งเห็นผลหรือประสงค์ต่อผล

                   2. เจตนาพิเศษ : โดยทุจริต คือ เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น หากผู้กระทำไม่มีเจตนาที่จะทุจริตที่จะเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนแล้ว แม้ครบองค์ประกอบภายนอกของมาตรา 334 ก็ไม่ทำให้ผู้กระทำมีความผิด

 

     - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -  - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -  - - - - - - - - - - -  ความผิดฐานยักยอก 352

          วางหลักไว้ว่า ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษ...

         ถ้าทรัพย์นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิด เพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไปด้วยประการใด หรือเป็นทรัพย์สินหายซึ่งผู้กระทำความผิดเก็บได้ ผู้กระทำต้องระวางโทษ...

 

องค์ประกอบความผิด

         องค์ประกอบภายนอก 

                   1. ผู้ใด คือ ผู้กระทำความผิด

                   2. ครอบครองทรัพย์ของผู้อื่นหรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย

                       คือ การยึดถือทรัพย์นั้นเพื่อตน มีอำนาจเหนือทรัพย์นั้นและต้องมีการครอบครองทรัพย์อย่างแท้จริงไม่ใช่การยึดถือแทนบุคคลอื่น เช่น เพื่อนฝากโทรศัพท์มือถือเพื่อเข้าห้องน้ำ เป็นการยึดถือเพื่อเพื่อนที่เข้าห้องน้ำ หากเอาไปจะเป็นการลักทรัพย์ ดังเช่นฎีกานี้

                        คำพิพากษาฎีกาที่ 179/2507 ผู้เสียหายฝากกระเป๋าถือแก่จำเลย เพื่อเข้าห้องส้วม เป็นการฝากชั่วคราว ขณะผู้เสียหายเข้าห้องน้ำ จำเลยได้เปิดกระเป๋าเอาสร้อยกับธนบัตรไป เป็นความผิดฐานลักทรัพย์หาใช่ยักยอกไม่

                   3. เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สาม

                      เบียดบังเอาทรัพย์ เป็นการเอาไปในลักษณะตัดกรรมสิทธิ์ออกจากเจ้าของทรัพย์เดิม ซึ่งความผิดฐานยักยอกนี้จะเป็นความผิดสำเร็จเมื่อได้มีการเบียดบัง

 องค์ประกอบภายใน

                    1. เจตนา ผู้กระทำต้องรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอกของความผิด และผู้กระทำย่อมเล็งเห็นผลหรือประสงค์ต่อผล

                    2. เจตนาพิเศษ : โดยทุจริต คือ เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น

 

ความแตกต่างระหว่างลักทรัพย์และยักยอก คือ

          1.การครอบครอง หากยังไม่มีการครอบครองแล้วเอาไปซึ่งทรัพย์เลยจะเป็นลักทรัพย์ แต่หากมีการครอบครองทรัพย์นั้นแล้ว ต่อมาได้มีการเอาทรัพย์นั้นไป คือ เบียดบังเอาไป เป็นยักยอกทรัพย์

          2.ความผิดฐานลักทรัพย์ เป็นความผิดอาญาแผ่นดินยอมความมิได้ ส่วนความผิดฐานยักยอกทรัพย์ เป็นความผิดต่อส่วนตัวยอมความกันได้

 

 - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -  - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -  - - - - - - - - - - - -

 

ความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ 336

 

          วางหลักไว้ว่า ผู้ใดลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า ผู้นั้นกระทำความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ ต้องระวางโทษ...

          ว.2 ถ้าการวิ่งราวทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ผู้กระทำต้องระวางโทษ...

          ว.3 ถ้าการวิ่งราวทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษ...

          ว.4 ถ้าการวิ่งราวทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษ...

 องค์ประกอบความผิด

 องค์ประกอบภายนอก 

 1. ผู้ใด คือ บุคคลผู้กระทำความผิด 

 2. ลักทรัพย์ 

 3.โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า คือ การลักทรัพย์ต่อหน้าเจ้าของทรัพย์ในระยะประชิดและเอาทรัพย์ไปขณะที่เจ้าทรัพย์เห็นการเอาไปและผู้ต้องหารู้ว่าเจ้าทรัพย์เห็นว่าตนเอาไป เพราะหากแม้เจ้าของทรัพย์จะเห็นว่ามีคนเอาไปแต่อยู่ห่างจากตัวทรัพย์ก็ไม่ใช่การวิ่งราวทรัพย์  ตาม 

คำพิพากษาฎีกาที่ 10344/2550 จำเลยใช้อุบายเข้าไปขอซื้อสินค้า เมื่อ น. ไปหยิบสินค้าและเผลอ พวกของจำเลยลงจากรถลักบุหรี่ไปจากร้านค้าของผู้เสียหาย ผู้เสียหายซึ่งอยู่ในร้านตัดผมฟากถนนตรงข้ามจะเห็นเหตุการณ์ ห่างออกไป 20 เมตร การกระทำดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าเอาไปต่อหน้าผู้เสียหาย การกระทำของพวกของจำเลยไม่เป็นการฉกฉวยเอาซึ่งหน้า ดังนั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันวิ่งราวทรัพย์

 องค์ประกอบภายใน 

       1. เจตนา ผู้กระทำต้องรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอกของความผิด และผู้กระทำย่อมเล็งเห็นผลหรือประสงค์ต่อผล

       2. เจตนาพิเศษ : โดยทุจริต คือ เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น 

 การกระทำในวรรคหนึ่งหากทำให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายดังนี้ จะต้องรับโทษหนักขึ้น 

 - ว.2 ได้รับอันตรายแก่กาย หรือ จิตใจ

 - ว.3 ได้รับอันตรายสาหัส

 - ว.4 ถึงแก่ความตาย 

   ว.2 ถึง ว.4 จะเป็นเหตุฉกรรจ์ที่ทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้น

 

    - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -  - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -  - - - - - - - - - - - - 

 ความผิดฐานกรรโชก 337

 

                        วางหลักไว้ว่า ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญหรือของบุคคลที่สาม จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกรรโชก ต้องระวางโทษ...

          ถ้าความผิดฐานกรรโชกได้กระทำโดย

          (1) ขู่ว่าจะฆ่า ขู่ว่าจะทำร้ายร่างกายให้ผู้ถูกข่มขืนใจ หรือผู้อื่นให้ได้รับอันตรายสาหัส หรือขู่ว่าจะทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่ทรัพย์ของผู้ถูกข่มขืนใจหรือผู้อื่น หรือ

          (2) มีอาวุธติดตัวมาขู่เข็ญ

          ผู้กระทำต้องระวางโทษ...

 

องค์ประกอบความผิด

          องค์ประกอบภายนอก

                 1. ผู้ใด คือ บุคคลผู้กระทำความผิด

                 2. ข่มขืนใจ (ให้ หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน)

                     เป็นการบังคับจิตใจ ซึ่งการตัดสินใจยังอยู่ที่ตัวผู้กระทำเอง แค่ผู้กระทำถูกบังคับให้ต้องตัดสินใจที่จะกระทำตามที่บังคับ และเป็นการที่ทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพจนผู้เสียหายยอมให้ หรือ จะให้ ซึ่งความผิดในมาตรานี้ จะผิดมาตรา 309 ความผิดฐานทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพเสมอ เพราะเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทเพราะ 337 และ 309 ต่างข่มขืนใจมุ่งเอาประโยชน์ในทรัพย์สินด้วยกัน แต่มาตรา 309 จะรวมไปถึงถูกข่มขืนใจให้กระทำอย่างอื่นด้วยไม่จำต้องให้ได้มาเฉพาะทรัพย์สินเหมือนดั่ง 337

                     ซึ่งในมาตรานี้เพียงแค่ผู้เสียหายยอมจะให้ก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว ไม่จำต้องได้ทรัพย์สินมาเหมือนดังความผิดฐานลักทรัพย์

                        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 562/2559 ผู้เสียหายทั้งสี่ยินยอมมอบเงินค่าไถ่รถยนต์ให้แก่ ว. ผู้รับจำนำ ซึ่งรับจำนำรถยนต์ของผู้เสียหายทั้งสี่รวม 10 คัน ไว้จาก บ. โดยมิชอบ ว. ขู่ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 ผ่าน อ. ภริยาของ บ. ทางโทรศัพท์ว่า หากผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ยอมให้เงินค่าไถ่รถยนต์แก่ ว. จะไม่ได้รถยนต์คืน และ ว. ยังขู่ผู้เสียหายที่ 4 ทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะต่อรองราคาค่าไถ่ว่าถ้าผู้เสียหายที่ 4 ไม่เอาราคานี้ก็ไม่ต้องเอา โดยจะนำรถของผู้เสียหายที่ 4 ไปแยกย่อยเอง ถือเป็นการขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อทรัพย์สินดังกล่าวของผู้เสียหายทั้งสี่ จนผู้เสียหายทั้งสี่จำต้องยินยอมจะให้เงินแก่ ว. เป็นค่าไถ่รถยนต์ การกระทำของ ว. ครบองค์ประกอบความผิดฐานกรรโชกแล้ว แม้ผู้เสียหายทั้งสี่จะยังไม่ได้มอบเงินค่าไถ่รถยนต์ให้แก่ ว. ส่วนจำเลยที่ 1 รับมอบหมายจาก ว. ให้มารับเงินค่าไถ่ จึงมิใช่เป็นการช่วยเหลือ การกระทำความผิดฐานกรรโชกของ ว. ได้สำเร็จเด็ดขาดไปแล้ว

          อีกทั้งความผิดฐานกรรโชกมิได้มีกฎหมายบัญญัติให้ผู้เป็นคนกลางติดต่อรับมอบทรัพย์จากการกรรโชก หลังจากการกระทำความผิดสำเร็จ เป็นความผิดที่ต้องรับโทษ จึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา 86 ได้

                   3. ผู้อื่น

                   4. โดย

                          - ใช้กำลังประทุษร้าย

                              ตามบทนิยามของมาตรา 1 (6) คือ การใช้กำลังประทุษร้ายแก่ร่างกาย หรือจิตใจของบุคคล ไม่ว่าจะทำด้วยใช้แรงกายภาพหรือด้วยวิธีอื่นใด และให้รวมถึงการกระทำใดๆที่ทำให้บุคคลหนึ่งไม่สามารถขัดขืนได้ ไม่ว่าจะโดยใช้ยาทำให้มึนเมา สะกดจิต หรือใช้วิธีอื่นใดก็ตาม

                        - ขู่เข็ญว่าจะอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง ทรัพย์สิน ของผู้ถูกขู่เข็ญ หรือของบุคคลที่สาม

                              เป็นการแสดงออกโดยทางวาจาหรือโดยทางกิริยาหรือทางอื่นให้ผู้ถูกขู่เข็ญเกิดความกลัวว่าจะเป็นอันตราย

                     5. จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น

                          ต้องเป็นการกลัวจากการถูกข่มขืนใจจากตัวผู้กระทำผิดแล้วยอมทำตามนั้น หากไม่ได้มีการเกรงกลัวให้เพราะรำคาญก็ไม่ผิดมาตรานี้

 องค์ประกอบภายใน  

                    โดยเจตนา กล่าวคือ ผู้กระทำต้องรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอกของความผิด และผู้กระทำย่อมเล็งเห็นผลหรือประสงค์ต่อผลมีเจตนาจะข่มขืนใจให้เขายอมกระทำตามที่ผู้ข่มขู่ต้องการ หากเป็นการล้อกันเล่นเพื่อนแกล้งเพื่อนก็จะเป็นการขาดเจตนา ซึ่งหากขาดเจตนานี้จะทำให้ไม่มีองค์ประกอบภายในเท่ากับไม่เป็นความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ หรือพยายามกรรโชกทรัพย์

 หากผู้กระทำได้มีการขู่ดังต่อไปนี้จะต้องรับโทษหนักขึ้น

          1.จะฆ่า

          2.จะทำร้ายร่างกาย

          3.จะทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่ทรัพย์

          4.มีอาวุธติดตัวมาขู่เข็ญ

Visitors: 58,064